นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption Policy)

  1. หลักการและเหตุผล

    คณะกรรมการบริษัท เอพี (ไทยเลนด์) จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่า การคอร์รัปชั่นส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัท ความสามารถในการแข่งขัน และอาจทำให้บริษัทไม่เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งลดความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย บริษัทจึงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เป็นธรรม และปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น บริษัทจึงได้เข้าร่วมเป็น “แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ รวมถึงได้มีการกำหนด “นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น” อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น และเพื่อกำหนดขอบเขตดำเนินการสำหรับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกคนของบริษัทและบริษัทในเครือ

  2. คำนิยาม

    การทุจริต (Fraud) หมายถึง การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรือด้วยช่องโหว่ของกฎหมาย นโยบาย และระเบียบข้อบังคับของบริษัทเพื่อประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบของตนเองหรือผู้อื่น

    การคอร์รัปชั่น ( Corruption) หมายถึง การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบในทุกรูปแบบ รวมทั้งการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่ง หรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้หรือรับสินบน การนำเสนอ หรือการให้คำมั่นว่าจะให้ การขอ หรือการเรียกร้อง ทั้งที่เป็นทรัพย์สิน เงิน สิ่งของ สิทธิหรือผลประโยชน์อื่นใด ที่เป็นการขัดต่อศีลธรรม จริยธรรม กฎหมาย กฎระเบียบ และนโยบาย ต่อบุคคลอื่นใดที่ดำเนินธุรกิจกับบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบ ทั้งต่อองค์กร ตนเอง หรือผู้อื่น

    สินบน (Bribery) หมายถึง ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ให้หรือเสนอว่าจะให้แก่บุคคลเพื่อให้ผู้นั้นกระทำการหรือละเว้นไม่กระทำการตามที่ผู้จ่ายเงินสินบนต้องการ

    การบริจาคเพื่อการกุศล (Charity) หมายถึง การใช้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินให้องค์กรการกุศลต่างๆ

    เงินสนับสนุน (Sponsorships) หมายถึง เงินที่จ่ายให้หรือได้รับจากลูกค้า คู่ค้าและหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ในทางธุรกิจ เช่น เป็นประโยชน์ในการสร้างความน่าเชื่อถือทางการค้า หรือช่วยกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจตามความเหมาะสมแก่โอกาส

    ของขวัญ (Gifts) หมายถึง สิ่งของใดๆ ที่มีมูลค่าทางการเงิน เช่น สิ่งที่ใช้แทนเงินสด สิ่งที่ใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ เช่น คูปองสมนาคุณ คูปองส่วนลดต่างๆ

    ค่าบริการต้อนรับ (Hospitality) หมายถึง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม ค่าชมการแสดง/กีฬา รวมถึงค่าเดินทาง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น

  3. นโยบาย

    1. กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ ต้องไม่เรียกร้อง ดำเนินการ หรือยอมรับการทุจริตและการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบทั้งทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว เพื่อนและคนรู้จัก ไม่ว่าจะด้วยการเสนอให้ (Offering) การให้คำมั่นสัญญา (Promising) การเรียกร้อง (Soliciting) การร้องขอ (Demanding) การให้หรือรับสินบน (Giving or Accepting Bribes) หรือมีพฤติกรรมใดที่ส่อไปในทางทุจริตหรือคอร์รัปชั่น
    2. บริษัทมีนโยบายให้มีการสอบทานการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนทบทวนแนวทางปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของกฎหมาย ทั้งนี้หากมีการฝ่าฝืนกระทำใดๆ อันเป็นการสนับสนุนช่วยเหลือ หรือให้ความร่วมมือกับการคอร์รัปชั่นจะได้รับการพิจารณาโทษตามระเบียบของบริษัทและอาจจะได้รับโทษตามกฎหมาย หากการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
  4. ขอบเขตการดำเนินการ

    1. บริษัทจะจัดให้มีมาตรการหรือขั้นตอนในการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นฉบับนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักการบริหารเสี่ยงและการควบคุมภายใน โดยให้ครอบคลุมถึงการบริจาคเพื่อการกุศล การใช้เงินสนับสนุน และการจ่ายเงินค่าของขวัญ ค่าบริการต้อนรับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินการต่างๆ ดังกล่าว ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อการคอร์รัปชั่น
    2. บริษัทจะสื่อสารนโยบาย และมาตรการต่างๆ ให้แก่กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ รับทราบเพื่อปฏิบัติตาม รวมทั้งสื่อสารแนวทางปฏิบัติให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายฉบับนี้ มีประสิทธิผล
    3. บริษัทจะมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายฉบับนี้ และการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม รวมถึงมอบหมายอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบให้ฝ่ายตรวจสอบภายใน เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีทรัพยากรและบุคลากรที่เพียงพอต่อการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด
    4. บริษัทจะจัดให้มีกระบวนการบริหารบุคลากร ซึ่งรวมถึงการคัดเลือก การอบรม การประเมินผลงาน การให้ผลตอบแทน ตลอดจนการเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทต่อนโยบายนี้
    5. บริษัทจะจัดให้มีกระบวนการอย่างเหมาะสมในการลงโทษพนักงานที่ไม่ปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการที่กำหนด ซึ่งการลงโทษนี้ รวมถึงการเลิกจ้างงาน ในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น
    6. บริษัทจะจัดให้มีช่องทางที่ปลอดภัย เพื่อให้พนักงาน คู่ค้าและสาธารณชนทั่วไป สามารถเข้าถึงได้อย่างมั่นใจ เมื่อต้องการแจ้งข้อมูล หรือเบาะแสเกี่ยวกับการปฏิบัติในทางที่ผิด โดยปราศจากความเสี่ยงต่อผู้แจ้งในภายหลัง รวมถึงช่องทางในการขอคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นนี้
    7. บริษัทจะจัดให้มีระบบการควบคุมภายในเพื่อจัดการการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการแบ่งแยกหน้าที่งานอย่างเหมาะสม
    8. บริษัทจะจัดให้มีขั้นตอนในการเก็บรักษาเอกสารและบันทึกต่างๆ ให้พร้อมต่อการตรวจสอบเพื่อยืนยันความถูกต้องและเหมาะสมของรายการทางการเงิน รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่มีรายการใดที่ไม่ได้รับการบันทึก หรือไม่สามารถอธิบายได้ และไม่มีรายการที่เป็นเท็จ
    9. บริษัทจะจัดให้มีขั้นตอนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า การควบคุมภายในของกระบวนการทำบัญชีและการเก็บรักษาข้อมูล ได้รับการตรวจสอบเพื่อยืนยันประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น
    10. บริษัทจะจัดให้มีขั้นตอนในการรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่นโดยฝ่ายตรวจสอบภายใน ต่อคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทอย่างสม่ำเสมอ